เกี่ยวกับคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา

                                                                                 

        คณะวิทยาศาสตร์การกีฬามีจุดเริ่มต้นมาจากหน่วยงานชื่อ "หมวดพลานามัย" ของวิทยาลัยวิชาการศึกษาบางแสน (วศ.บางแสน) ในปีพุทธศักราช 2517 วิทยาลัยวิชาการศึกษาบางแสนได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน(มศว.บางแสน) ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หมวดพลานามัยจึงเปลี่ยนเป็น "แผนกวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา" สังกัด ภาควิชาพื้นฐานการศึกษา

      คณะศึกษาศาสตร์มีหน้าที่สอนวิชากิจกรรมพลศึกษาและวิชาสุขภาพส่วนบุคคลในฐานะวิชาพื้นฐานทั่วไปบังคับและวิชาเลือกเสรีให้นิสิตทุกคนในมหาวิทยาลัย และในปีพุทธศักราช 2517 นี้คณะศึกษาศาสตร์ได้เปิดสอนวิชาโทพลศึกษาทั้งภาคปกติและภาคสมทบ ส่วนวิชาโทสุขศึกษาได้เปิดสอนในปีพุทธศักราช 2518 สำหรับหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.)วิชาเอกพลศึกษาเปิดสอนในพุทธศักราช 2519 ทั้งภาคปกติและภาคสมทบ ต่อมาในปี พุทธศักราช 2523 แผนกวิชาสุขศึกษาและพลศึกษาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น "คณะพลศึกษา" ประกอบด้วยสำนักงานเลขานุการคณะ ภาควิชาพลศึกษา ภาควิชาสุขศึกษา และภาควิชาสันทนาการตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อเปลี่ยนสถานะเป็นคณะพลศึกษาแล้วได้เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาวิชาพลศึกษา ในปี พุทธศักราช 2525 โดยปิดหลักสูตรวิชาโทพลศึกษา หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต สาขาวิชาพลศึกษา ภาคสมทบ

        สำหรับงานบริการวิชาการแก่สังคมได้สร้าง "เส้นทางเพื่อสุขภาพ" ขึ้นสามสายรวมระยะทาง 1,355 เมตร มหาวิทยาลัยได้ตั้งชื่อบริเวณ ที่เส้นทางคดเคี้ยวนี้พร้อมกับสถานีออกกำลังกายรวม 15 สถานีว่า "สวนนันทนาการรัชมังคลาภิเษก" เพื่อให้เป็นสถานที่ฝึกออกกำลังกายสำหรับบุคคลทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย

ก้าวย่างแห่งการเปลี่ยนแปลง: จากภาควิชาพลศึกษาและนันทนาการ สู่วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การกีฬา (พุทธศักราช 2533 - 2551)
        พุทธศักราช 2533 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตบางแสนได้รับการยกฐานะเป็น“มหาวิทยาลัยบูรพา”เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม และสภามหาวิทยาลัยมีมติให้มีการยุบรวมเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหน่วยงานต่างๆของมหาวิทยาลัยใหม่ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยบูรพา ทำให้ภาควิชา "สุขศึกษา" ต้องเปลี่ยนสถานะไปสังกัดคณะสาธารณสุขศาสตร์ "คณะพลศึกษา" เปลี่ยนสถานะเป็นภาควิชาพลศึกษาและสันทนาการ สังกัดคณะศึกษาศาสตร์ แต่ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนสถานะเป็นเพียงภาควิชาหนึ่งภายใต้การบริหารงานของคณะศึกษาศาสตร์ บุคลากรทุกคนของภาควิชาพลศึกษาและสันทนาการได้ร่วมมือกันทำงานเพื่อพัฒนาความก้าวหน้าของวิชาชีพ พลศึกษาและกีฬาอย่างต่อเนื่อง

        พุทธศักราช 2545 ภาควิชาพลศึกษาและสันทนาการ ได้รับการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยบูรพา เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ให้จัดตั้งเป็น “วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การกีฬา” ซึ่งเป็นส่วนราชการหนึ่งในมหาวิทยาลัยบูรพาที่มีฐานะเทียบเท่าคณะและได้มีการจัดการเรียนการสอนและดำเนินโครงการ ต่างๆที่สำคัญ อาทิ เช่น 
        1) พุทธศักราช 2536 เปิดสอนในระดับปริญญาโท สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬา
        2) พุทธศักราช 2537 จัดตั้งห้องปฏิบัติการทางสรีรวิทยาการออกกำลังกาย
        3) พุทธศักราช 2541 เปิดสอนในระดับปริญญาเอก สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬา
        4) พุทธศักราช 2542 จัดตั้งห้องปฏิบัติการทางจิตวิทยาการออกกำลังกายและการกีฬา
        5) พุทธศักราช 2542 จัดตั้งห้องศูนย์ข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬา 
        6) พุทธศักราช 2543เริ่มต้นการให้ทุนปริญญาเอกกาญจนาภิเษกแก่นิสิตปริญญาเอก สาขาจิตวิทยาการกีฬา
        7) พุทธศักราช 2544 ดำเนินการจัดสรรทุน CRN Collaborative Research Network (CRN): Strategic Scholarship Fellowships Frontier Research Network ทุนพัฒนาอาจารย์สาขาขาดแคลน ปริญญาโท-เอก ภายในประเทศ แก่นิสิตทุนในสาขาวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬาจำนวน 3 ทุน

        8พุทธศักราช 2545 ดำเนินการจัดสรรทุน CRN Collaborative Research Network (CRN): Strategic Scholarship Fellowships Frontier Research Network ทุนพัฒนาอาจารย์สาขาขาดแคลน ปริญญาโท-เอก ภายในประเทศ แก่นิสิตทุนในสาขาวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬาจำนวน 3 ทุน

        9) พุทธศักราช2547 จัดทำวารสารวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬา (Journal of Exercise and Sport Science)
        10) พุทธศักราช2547 ดำเนินการจัดสรรทุน CRN Collaborative Research Network (CRN): Strategic Scholarship Fellowships Frontier Research Network ทุนพัฒนาอาจารย์สาขาขาดแคลน ปริญญาโท-เอก ภายในประเทศ แก่นิสิตทุนในสาขาวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬาจำนวน 8ทุน

ก้าวย่างที่สำคัญแห่งปัจจุบันสู่อนาคต “คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา” (พุทธศักราช 2551)
        พุทธศักราช 2551 วันที่9 มกราคม 2551 มหาวิทยาลัยบูรพา ได้มีการเปลี่ยนแปลงสถานะจากมหาวิทยาลัยในระบบราชการ เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือที่เรียกว่า "มหาวิทยาลัยนอกระบบ" ที่มีการบริหารจัดการอิสระแยกจากระบบราชการ (autonomous university)โดยประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 125 ทำให้มีการปรับเปลี่ยนสถานภาพและชื่อหน่วยงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัยอีกครั้ง และในวันที่ 10 เมษายน พุทธศักราช 2551 สภามหาวิทยาลัยได้มีประกาศมหาวิทยาลัยบูรพา เรื่องการจัดตั้งส่วนงานและภาระหน้าที่ของส่วนงาน ให้เปลี่ยนชื่อหน่วยงานวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การกีฬาเป็น "คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา"

        “คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา” มีพัฒนาการที่ก้าวกระโดดและต่อเนื่อง จากการที่เป็นองค์การที่มุ่งเน้นการผลิตบุคลากรทางการกีฬา พัฒนามาสู่การขยายตัวและความหลากหลายของการสร้างองค์ความรู้ การวิจัยและหรือศาสตร์ต่างๆทางวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬา จนปัจจุบันมีการเปิดการเรียนการสอนทั้ง 3 ระดับ คือ

ระดับปริญญาตรี 3 สาขาวิชา ได้แก่
        1.สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและกีฬา (Exercise and Sport Science)
        2.สาขาวิชากีฬาศึกษาและกีฬาการบริหารจัดการกีฬา (Sport Studies and Sport Management)
        3.สาขาวิชาสื่อสารมวลชนทางกีฬา (Sport Mass Communications)

ระดับบัณฑิตศึกษาทั้งระดับปริญญาโทและปริญญาเอกใน 3 สาขาวิชาด้วยกัน ได้แก่
        1.สาขาวิชาสรีรวิทยาการออกกำลังกาย (Exercise Physiology)
        2.สาขาวิชาจิตวิทยาการออกกำลังกายและการกีฬา (Exercise and Sport Psychology)
        3.สาขาวิชาการบริหารและการจัดการการออกกำลังกายและการกีฬา (Exercise and Sport Administration and Management)

        ทั้งนี้เพื่อสนองตอบต่อโจทย์ความต้องการของประเทศในการพัฒนาและให้บริการด้านวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬาเพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนและภายใต้แผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพาสู่ความเป็นเลิศ พ.ศ.2553-2562 คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพาพร้อมแล้วที่จะเป็นองค์กรทางการกีฬาชั้นนำของประเทศในการผลิตบุคลากรทางการกีฬา ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ และนักสื่อสารมวลชนทางการกีฬาที่มีศักยภาพสูง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนและพัฒนาวงการกีฬาของชาติให้ก้าวสู่เวทีระดับสากล ตลอดจนมุ่งเน้นการวิจัยสู่ความเป็นเลิศ ทางด้านวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬาโดยมุ่งเน้นเพื่อเป็นองค์กรที่มีความสุขบนฐานความรู้และปัญญาภายใต้สโลแกนที่ว่า “Better Faculty Better Education.”